มลายู ปาตานี

มลายู ปาตานี

ชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกภาษาของตนเองว่า บาซอ 'นายู หรือ บาฮาซอ 'นายู แปลว่า ภาษามลายู (บาซอ/บาฮาซอ แปลว่า ภาษา) และเรียกตนเองว่า “ออแร 'นายู” แปลว่า คนมลายู (คำว่า 'นายู เป็นคำลดรูปของคำว่า มลายู นั่นเอง)
จัดทำโดย: 
ยูเนียนสาสมีต้า สาเมาะ

กลุ่มชาติพันธุ์มลายูปาตานี

ประชากรในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา จำนวนร้อยละ 83 พูดภาษามลายูปาตานีและนับถือศาสนาอิสลาม (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ, 2550) จากการสำรวจสถานการณ์การใช้ภาษาของคนไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการใช้ภาษามลายูปาตานีเป็นหลักในชีวิตประจำวัน มีความสามารถในภาษาของตนเองเป็นอย่างดี รวมทั้งมีทัศนคติที่ดีต่อภาษามลายูปาตานีของตนมากที่สุด (รองลงมาคือ ภาษาไทยปนมลายูถิ่น ภาษาไทยกลาง ภาษามาเลเซีย และภาษาไทยถิ่นใต้) (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ, 2550)

สำหรับชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกภาษาของตนเองว่า บาซอ 'นายู หรือ บาฮาซอ 'นายู แปลว่า ภาษามลายู (บาซอ/บาฮาซอ แปลว่า ภาษา) และเรียกตนเองว่า “ออแร 'นายู” แปลว่า คนมลายู (คำว่า 'นายู เป็นคำลดรูปของคำว่า มลายู นั่นเอง) ในสังคมทั่วไปจะมีการเรียกภาษามลายูปาตานีนี้ว่า “ภาษายาวี” “ภาษาอิสลาม” “ภาษาแขก” “ภาษามลายูถิ่น” และ “ภาษามลายูถิ่นปัตตานี” อันที่จริง “ยาวี” ไม่ใช่ชื่อภาษา แต่หมายถึงอักษรอาหรับที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการเขียนคำภาษามลายู ส่วน “อิสลาม” เป็นชื่อศาสนาไม่ใช่ชื่อภาษา บ่อยครั้งที่คนไทยพุทธเรียกภาษามลายูปาตานีนี้ว่า “ภาษาแขก” ซึ่งไม่เป็นที่พอใจของเจ้าของภาษามากนักเพราะสำหรับพวกเขา คำว่า “แขก” แฝงไว้ด้วยความหมายของการดูถูกเหยียดหยาม คำว่า “ภาษามลายูถิ่น” ก็บอกแต่เพียงว่าเป็นภาษาถิ่นของภาษามลายู มีความหมายกว้าง ๆ โดยไม่ได้บ่งบอกว่าใช้กันในพื้นที่ใด ส่วนคำว่า “ ภาษามลายูถิ่นปัตตานี” มีความหมายว่าเป็นภาษาถิ่นของภาษามลายูที่ใช้กันในพื้นที่ปัตตานี ถ้าดูตามความหมายของคำแล้ว “ ปัตตานี” ก็หมายถึงอาณาเขตพื้นที่ของจังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน และไม่ได้หมายรวมถึงจังหวัดยะลา นราธิวาส และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา แต่ภาษามลายูปาตานีในที่นี้เป็นภาษามลายูถิ่นที่ใช้กันในพื้นที่ที่เป็นอาณาเขตของ “เมืองปาตานี” ในอดีต ซึ่งหมายรวมถึงพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสในปัจจุบัน ดังนั้นภาษามลายูถิ่นนี้จึงน่าจะเรียกว่า “ภาษามลายูปาตานี” เพื่อให้กินความได้ครอบคลุมและครบถ้วน (แวมายิ ปารามัล, 2552)

นอกจากนี้ในทางภาษาศาสตร์อาจจะถือได้ว่าภาษามลายูถิ่นที่ใช้พูดกันในชุมชนชานเมืองกรุงเทพมหานคร อันได้แก่ บ้านคลองหนึ่งแก้วนิมิต บ้านสวนพริกไทย และบ้านบางโพ จังหวัดปทุมธานี และบ้านท่าอิฐ จังหวัดนนทบุรี เป็นภาษาถิ่นย่อยของภาษามลายูปาตานี ทั้งนี้เนื่องจากบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันภาษาของพวกเขาก็มีความแตกต่างจากภาษามลายูปาตานีอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นในด้านเสียง ความหมาย และโครงสร้างประโยค ทั้งนี้เนื่องจากมีวิวัฒนาการทางภาษาที่แตกต่างกัน

 

ลักษณะทั่วไปของภาษามลายูปาตานี มีดังนี้

• คำพื้นฐานในภาษามลายูปาตานีส่วนใหญ่เป็นคำ 2 พยางค์ (Disyllabic words) เช่นเดียวกับคำพื้นฐานของภาษาอื่นๆ ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ตัวอย่างเช่น นาซิ – ‘ข้าว’, มาแก – ‘กิน’, ดูวิ – ‘เงิน’ เป็นต้น

• ภาษามลายูปาตานีเป็นภาษาที่ไม่มีเสียงวรรณยุกต์ และการเน้นเสียงหนัก – เบา (Stress) ก็ไม่ใช่ลักษณะสำคัญของภาษานี้ ดังนั้นการออกเสียงเน้นหนักที่พยางค์ใดของคำก็ตามไม่ทำให้ความหมายของคำนั้นๆเปลี่ยนแปลง เช่น มาแซ – ‘เปรี้ยว’ ไม่ว่าจะออกเสียงเน้นหนักที่พยางค์แรกหรือพยางค์หลังก็ยังคงความหมายเดิม

• ภาษามลายูปาตานีมีพยัญชนะเสียงยาวหรือการยืดเสียงพยัญชนะต้นของคำ ซึ่งเป็นลักษณะที่ทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนแปลงได้ นับเป็นลักษณะพิเศษของภาษานี้ ลักษณะเช่นเกิดจากการลดรูปคำให้เหลือจำนวนพยางค์น้อยลง ส่วนใหญ่จะเป็นการลดหน่วยเติมหน้าคำ (อุปสรรค) ตัวอย่าง เช่น ตือลอ ‘ไข่’ 'ตือลอ ‘วางไข่’ บูงอ ‘ดอกไม้’ 'บูงอ ‘ออกดอก’ มาแล ‘กลางคืน’ 'มาแล ‘ค้างคืน’

• การเปลี่ยนทำนองเสียงในประโยค (Intonation) ทำให้ความหมายของประโยคเปลี่ยนแปลงได้ ทำนองเสียงในประโยคภาษามลายูปาตานีมีผลต่อหน้าที่ประโยคนั้นๆ

• ความสั้น – ยาวของเสียงสระในภาษามลายูปาตานีไม่ทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลง โดยปกติเสียงสระในพยางค์เปิดจะยาวกว่าเสียงสระในพยางค์ปิดเพียงเล็กน้อย ยกเว้นเสียงสระ _ือ ซึ่งจะออกเสียงสั้นกว่าเสียงสระอื่นในพยางค์เปิด

• ในทางสัทศาสตร์ถือว่าภาษามลายูปาตานีมีเสียงพยัญชนะที่เกิดในตำแหน่งท้ายคำเพียง 3 เสียงเท่านั้น ได้แก่ ŋ (ง), h (ฮ) และ  (เสียงนี้ปรากฏในคำที่ลงท้ายด้วยสระเสียงสั้นในภาษาไทย) เช่น มีนุง ‘ดื่ม’, ฮาบิฮ ‘หมด’, อาเนาะ ‘ลูก’

• ระบบเสียงในภาษามลายูปาตานีไม่มีเสียงพยัญชนะควบกล้ำ ไม่ว่าในตำแหน่งต้นคำหรือท้ายคำ

 

เอกสารอ้างอิง

ราชบัณฑิตยสถาน. (2553). คู่มือระบบเขียนภาษามลายูปาตานีอักษรไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพมหานคร : สหมิตรพริ้นติ้งแอนด์พับลิสชิ่ง.

แวมายิ ปารามัล (2552). คู่มือระบบตัวเขียนภาษามลายูปาตานี. เอกสารประกอบโครงการวิจัยปฏิบัติการเรื่อง “การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยเป็นสื่อ : กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษาไทย – มลายูถิ่น) ในโรงเรียนเขตพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้”. สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2550). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ “ภาษามลายูท้องถิ่นในประเทศไทย: การศึกษาสถานการณ์ทางภาษา การพัฒนาและการวางแผนการใช้ภาษาเพื่อการศึกษา และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ระยะที่ 1). ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล.

หัวข้อ: 
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น, พจนศิลป์, สื่อการสอน, ระบบเขียน
สรุป
เป็นบท'ปาตงที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง โดยการสืบทอดจากบรรพบุรุษของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู 'ปาตงยังกล่าวถึงธรรมชาติ สภาพทางภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อม อาชีพ ค่านิยม ศาสนา อาหารการกิน และกิจกรรมทางวัฒนธรรมเป็นต้น