ญัฮกุร

ญัฮกุร

ภาษาญัฮกุร หรือมอญโบราณในสมัยทวาราวดี จัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร สาขาย่อยโมนิค
จัดทำโดย: 
ณัฐมน โรจนกุล

ภาษาญัฮกุร หรือมอญโบราณในสมัยทวาราวดี จัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร สาขาย่อยโมนิค จากประวัติได้บันทึกว่าชาวญัฮกุรอาศัยอยู่ใน 3 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา และเพ็ชรบูรณ์ มีจำนวนผู้พูดประมาณ 6,000 คน แต่ปัจจุบันที่พบมากและยังพูดภาษาญัฮกุรได้คือที่อำเภอเทพสถิตย์ จังหวัดชัยภูมิ ส่วนอีก 2 จังหวัดที่กล่าวมาพบได้น้อย และพูดภาษาไม่ค่อยได้แล้ว

คำว่า “ญัฮกุร” มาจากคำสองคำ คือ ญัฮ แปลว่า “คน” กุร แปลว่า “ภูเขา” ชาวญัฮกุรเรียกตัวเองว่า “ญัฮกุร” จึงหมายถึง คนที่อาศัยอยู่ในป่าบนภูเขา คนทั่วไปอาจจะรู้จักคำว่า “คนดง” หรือ “ชาวบน” เพราะออกเสียง “ญัฮกุร” ไม่ถูกและไม่เข้าใจความหมาย แต่คนญัฮกุรเองไม่ชอบให้คนภายนอกเรียกคำดังกล่าว เนื่องจากชาวญัฮกุรเองมีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเองที่สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน ดังนั้น คนภายนอกจึงควรเรียกพวกเขาว่า “ญัฮกุร” เพื่อเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ปัจจุบันภาษาญัฮกุรจัดว่าอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากมีคนพูดได้จำนวนน้อย  และเด็กหรือวัยกลางคนก็พูดได้น้อยลง หากไม่มีการอนุรักษ์ฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมอาจสูญหายได้ในเวลาไม่ช้า นับว่าโชคดีที่ชาวญัฮกุรเองเห็นความสำคัญและตระหนักถึงสถานการณ์ที่ถดถอยของการใช้ภาษา จึงได้ร่วมกับนักภาษาศาสตร์จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มดำเนินการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรม โดยสร้างเครื่องมือเป็นระบบตัวเขียนภาษาญัฮกุรอักษรไทย โดยชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อใช้ในการจดบันทึกภาษาของตนเอง ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 เป็นต้นมา เนื่องจากไม่มีระบบตัวเขียนมาก่อน และยังได้มีการสอนภาษาญัฮกุรเป็นรายวิชาในโรงเรียนระดับประถมศึกษาในชุมชน โดยมีการผลิตสื่อการเรียนการสอนจำนวนมาก รวมทั้งได้บันทึกองค์ความรู้เรื่องพืชในป่าชุมชนอีกด้วย

หัวข้อ: 
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
การละเล่น, เพลง
สรุป
การปาเรเร เป็นการร้องเพลงของชาวญัฮกุร บทเพลงและบทกลอนที่ร้องโต้ตอบเป็นการร้องสด
กลุ่มผู้มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล
LangArchive-TH
หมวดหมู่
ขั้นตอน
สรุป
หอดอกผึ้ง สร้างขึ้นด้วยโครงไม้ประดับตกแต่งด้วยพิมพ์ดอกไม้ทำจากขี้ผึ้ง เพื่อนำไปถวายวัดพร้อมกองผ้าป่าในงานบุญใหญ่ประจำปีของชาวญัฮกุรที่จัดขึ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์