ชาวขมุ

สรุป: 
ภาพถ่ายวิถีชีวิตชาวขมุในอดีต
รายละเอียด: 

ขมุ เป็นชาวเขากลุ่มเล็ก ๆ ในภาคเหนือของประเทศไทย บริเวณชายแดนจังหวัดเชียงรายและน่าน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานบริเวณตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน ตั้งแต่บริเวณทางใต้ของประเทศจีน ทางภาคเหนือของประเทศไทย ประเทศเวียดนาม จนถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีชาวขมุอยู่เป็นจำนวนมากที่สุด

ชาวขมุ นิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำหรือคล้ำเข้ม ในชีวิตประจำวันจะพบการแต่งกายแบบขมุเฉพาะกลุ่มหญิงมีอายุ ส่วนผู้ชายและเด็กรุ่นใหม่จะนิยมแต่งกายแบบคนเมือง นอกจากนี้ ชาวขมุบางถิ่นจะแต่งกายคล้ายกลุ่มอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ เช่น ขมุบ้านห้วยเย็นและบ้านห้วยเอียน จังหวัดเชียงราย นุ่งซิ่นสีคล้ำลงลายแบบลาวและโพกผ้าสีแดง ส่วนขมุที่อำเภอทุ่งช้างและเชียงกลาง จังหวัดน่าน ใช้ซิ่นลายขวางแบบไทลื้อ และสวมเสื้อหนาตัวสั้นสีน้ำเงินเข้ม ตกแต่งด้วยด้ายสีและเหรียญเงิน ใส่กำไลเงินที่คอแบบแม้วและกำไลข้อมือ

บ้านของชาวขมุ มักสร้างอยู่ตามชายเขาหรือบนเขา เลือกตั้งใกล้แหล่งน้ำหรือเนินสูงริมน้ำ อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หมู่บ้านหนึ่งอาจมีราว 20-100 หลังคา ลักษณะบ้านครี่งชั้นบนเสาสั้นยกพื้นขึ้นมา ใช้ชั้นล่างเป็นที่เก็บของใช้ อาหารแห้ง กับดักสัตว์ เมล็ดพันธุ์พืช และเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

ภายในบ้าน ชาวขมุถือว่า เตาไฟหุงข้าวเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ประดิษฐานของผีบ้านเรียกว่า ‘โร้ยกาง’ เตาไฟทำอาหารจะอยู่คนละที่ เหนือเตาไฟทำอาหารเป็นที่เก็บอาหารแห้ง ชาวขมุบางกลุ่มนิยมใช้กระบอกไม้ไผ่เป็นที่ใส่น้ำดื่มน้ำใช้ภายในบ้านเรียกว่า ‘อ้มตึ่ง’ หรือบางกลุ่มใช้น้ำเต้าแห้งเรียกว่า ‘อ้มแงน’

ชาวขมุเคร่งครัดต่อประเพณีและพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับผี เรียกว่า ‘โร้ย’ ในหมู่บ้านที่นับถือผีหรือนับถือศาสนาพุทธที่มักจะควบคู่กับผีไปด้วย จะมี ‘ตแล้’ เป็นไม้ไผ่สานปักไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเลี้ยงผีที่ทางเข้า ประตูหมู่บ้าน หรือทางแยก หรือบ้านที่มีการเลี้ยงผี ชาวขมุจะสร้างที่ทำพิธีสำคัญต่าง ๆ ในหมู่บ้านเรียกว่า ‘จอง’ เป็นที่ชุมนุม ทำงาน และประกอบพิธีกรรม เช่น เลี้ยงผีหมู่บ้าน ทำอาหารเลี้ยงเมื่อมีการปลูกบ้านใหม่ เป็นต้น พิธีต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงผีมี การเลี้ยงผีข้าว พิธีรักษาคนป่วย พิธีเลี้ยงผีหมู่บ้าน พิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ พิธีเลี้ยงผีแก้ความผิด เป็นต้น ส่วนหนึ่งของพิธีเลี้ยงผีบ้านคือ การฆ่าไก่ ฆ่าหมู เพื่อเซ่นไหว้ผีบ้านในการรักษาความเจ็บป่วยค่อนข้างมาก แต่พิธีฆ่าควาย ซึ่งเป็นสัตว์สำคัญและมีค่าของชาวขมุ จะใช้สำหรับการเซ่นไหว้เลี้ยงผีในพิธีกรรมใหญ่ที่สุด เช่น การรักษาคนเจ็บไข้ที่ป่วยหนัก หรือพิธีเลี้ยงผีแก้ความผิด นอกจากนี้บางแห่งยังมีพิธีฆ่าสุนัขเพื่อนำมาประกอบอาหารในพิธีปลูกบ้านใหม่ เนื้อสัตว์เหล่านี้จะถูกนำมาทำอาหารเลี้ยงผี เลี้ยงคนในบ้าน และแจกจ่ายตามลำดับ

เหล้า หรือ ‘ปูจ’ มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวขมุที่ขาดไม่ได้ ทั้งในชีวิตประจำวัน พิธีเซ่นไหว้ผี หรือใช้ต้อนรับแขก หน้าที่หมักเหล้าอุเป็นของผู้หญิงขมุ ที่จะหมักเหล้าไว้ใช้เอง

ในการต้อนรับแขกหรืองานเลี้ยงต่าง ๆ ยังมีการละเล่น ดนตรี ทั้งหญิงและชายร้องเพลงเพื่อความสนุกสนาน ขับเพลง ‘เติ้ม’ เพื่อสรรเสริญ เล่าประวัติ เล่านิทาน หรือต้อนรับแขกสร้างความเพลิดเพลิน หรือเล่าเป็นนิทานเพื่อสั่งสอนและถ่ายทอดการประพฤติปฏิบัติ เครื่องดนตรีของชาวขมุมีทั้งกลองมโหระทึก ฆ้องแบน ฆ้อง กลอง ปี่ และฉาบ เป็นต้น ยังมีการเต้นกระแทกกระบอกไม้ไผ่และการฟ้อนดาบ

 

อ้างอิง

(1) สุวิไล เปรมศรีรัตน์. (2531). ชีวิตชาวขมุจาก 50 บทสนทนา. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

(2) สุวิไล เปรมศรีรัตน์. (2541). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์: ขมุ. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

* ข้อมูลและภาพวิถีชีวิตชาวขมุเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกเพื่อการศึกษาและวิจัยภาษาขมุในประเทศไทย ลาว เวียตนาม และจีน และในการศึกษาภาษาศาสตร์ภาคสนาม ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ ในช่วงปี พ.ศ. 2520 – 2538