รำมะนา

สรุป: 
การละเล่นรำมะนาเป็นการละเล่นดนตรีพื้นบ้าน ถือเป็นมรดกสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นของชาวอูรักลาโวยจ
รายละเอียด: 

          การละเล่นรำมะนา ใช้ใน ๒ ลักษณะ ได้แก่ ๑) ดนตรีรำมะนาสำหรับพิธีกรรม คือ บทเพลงที่ใช้ขับร้องประกอบพิธีกรรมที่จัดทำในรอบปี เช่น พิธีลอยเรือ เพื่อเป็นการบวงสรวงแสดงความเคารพ และขอขมาลาโทษต่อผีบรรพบุรุษ  โดยเฉพาะในสมัยอดีตนั้นจะมีการปล่อยเคราะห์ที่แตกต่างกัน โดยเดือน ๖ จะส่งเคราะห์ไปทางทิศตะวันตก พอถึงเดือน ๑๑ จะส่งเคราะห์ไปทางทิศตะวันวันออก ซึ่งจะมีโต๊ะหมอเป็นผู้สื่อสารกับผีบรรพบุรุษ และ ๒) ดนตรีรำมะนาแสดงเพื่อความบันเทิง จะบรรเลงหลังจากบทเพลงแห่งพิธีกรรมเสร็จสิ้น เช่น งานแก้บน งานแต่งเปลว งานดาโต๊ะ เป็นต้น

          เครื่องดนตรีที่ใช้ในวงรำมะนา ได้แก่ กลองรำมะนา (บานา) ประกอบด้วยกลองรำมะนาตัวแม่ และตัวลูก, กลองทน ประกอบด้วย กลองทนตัวแม่ และตัวลูก, ฆ้อง และฉาบ

          การแต่งกาย ผู้ชายจะใส่กางเกงขายาว (กางเกงเล) ใส่เสื้อกล้าม และคาดผ้าขาวม้า ส่วนผู้หญิง จะนุ่งผ้าบาเตะ และเสื้อที่มีสีสันสดใสสวยงาม

          การร่ายรำ ผู้หญิงจะร่ายรำด้วยความนุ่มนวล อ่อนช้อย และมีความพร้อมเพรียงกันตามจังหวะของเพลง

ความรู้ดั้งเดิมเฉพาะกลุ่ม: 

เพลง ลงปง

ความเป็นมาของเพลงลงปง

          เพลงนี้จะเล่นเป็นเพลงแรกเสมอ สาเหตุที่เล่นเป็นเพลงแรกเพราะว่าเพลงลงปงเป็นเพลงที่เขาเล่นกันมาตั้งแต่อดีตแล้ว ซึ่งเป็นเพลงที่สำคัญ เพลงนี้จะเป็นเพลงพิธีเปิดทุกครั้งเมื่อเล่นรำมะนา เชื่อกันว่าเพลงนี้เป็นเพลงในพิธีกรรมของรำมะนาที่จะรำให้ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ได้จากไปแล้ว

         เนื้อเพลงจะมีความหมายเกี่ยวกับเรื่องสมัยอดีตก่อนที่ชาวอูรักลาโวยจจะมาอยู่ที่สังกาอู้  โดยบอกเล่าการเดินทางผ่านทะเลอันดามันทั้งหมด และจุดที่หยุดพักอาศัยในที่ต่างๆ และรวมถึงการอธิบายถึงความสำคัญของสถานที่แห่งนั้นซึ่งเคยอาศัยเป็นที่พักของชาวอูรักลาโวยจในอดีต

ตำแหน่งที่ตั้ง: 
รายละเอียดตำแหน่งที่ตั้ง: 

บ้านสังกาอู้ ต.เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่