เพลงกล่อมเด็กภาษาตากใบ 'ฝนทะเล' : Tak Bai Lullaby 'Sea's Storm'

สรุป: 
'ชาแด๋ก' (กล่อมเด็ก) และ 'เวเปล๋' (ไกวเปล) เป็นกิจกรรมยามบ่ายในบ้านที่มีเด็กเล็ก หลังจากการทำนาทำสวน หากบ้านหลังใดมีลูกหลายคน ผู้หญิงในบ้านนั้นก็มักจะชาแด๋กได้หลายเพลง ตั้งแต่อดีตมาไม่เคยมีการจดบันทึก ทำให้เพลงชาแด๋กภาษาตากใบหาฟังได้ยากแล้วในปัจจุบัน
รายละเอียด: 

เพลงฝนทะเล เป็นเพลงที่ใช้ภาษาภาพพจน์ (figure of speech) แบบบรรยายจินตภาพ (imagery) นั่นคือเล่าถึง คน สัตว์ สิ่งของ และสถานที่ โดยผ่านประสบการณ์ธรรมชาติ เช่น ในเพลงนี้จะพูดบรรยายถึงสภาพอากาศฟ้าครึ้มฝนใกล้ตก ภาพสังคมการเกษตรที่วัวควายกำลังร้องหิวหญ้า มีนกกระจอกเกาะอยู่บนหลังควาย แต่เมื่อเมฆดำลอยมาจากทิศที่เป็นฝั่งทะเล ให้รีบพาวัวควายกลับบ้าน (เริน) ด้วยภูมิประเทศในพื้นที่ที่ติดกับฝั่งอ่าวไทย ฤดูฝนจึงเป็นฤดูที่กินระยะเวลายาวนานที่สุด ซึ่งชาวบ้านจะคุ้นชินที่สุด จนมีคำเรียกทิศว่า “ใต้ตีนทะเล” หรือทิศเหนือ ซึ่งเรื่องทิศเป็นเรื่องที่ชาวบ้านจะให้ความสำคัญมาก ที่เวลานอนจะเอาปลายเท้าชี้ไปทิศดังกล่าว ด้วยความเชื่อเรื่องความเป็นศิริมงคลมาแต่โบราณ นอกจากนี้ยังบรรยายถึงชาวบ้านที่ทำสวน ปลูกผลไม้ เช่น แตงไทย มะพร้าว และเมื่อกลับถึงบ้านหรือเรินแล้ว ก็จะประกอบอาหารกันจากผักผลไม้ที่เก็บมา ในด้านของการร้อยเรียงคำเหล่านี้ สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาษาภาพพจน์เช่นนี้ คือ เสียงสัมผัส (rhyme) ที่เรียงต่อไปเรื่อย ๆ ประกอบเป็น ฉันทลักษณ์ ที่เพลงกล่อมเด็กในภาษาไทสำเนียงตากใบส่วนใหญ่ ดังที่ได้กล่าวไว้ในการศึกษาของ สุภาพร ฉิมหนู (2561) ไว้ว่า มีลักษณะเป็นร่ายยาว 4-5 พยางค์ (ในการบันทึกครั้งนี้มีบางวรรคมีจำนวน 4-7 พยางค์ด้วยได้เช่นกัน) และคล้ายเพลงชาน้อง (เรียกกันโดยภาษาไทยปักษ์ใต้) และคล้ายกาพย์ยานีนั่นเอง

 

งานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพลงกล่อมเด็กภาษาไทสำเนียงตากใบ:

- วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตเรื่อง “การศึกษาเพลงกล่อมเด็กภาคใต้สำเนียงเจ๊ะเห (ตากใบ-ตุมปัต)” โดย สุภาพร ฉิมหนู (2561) สาขาวิชาดนตรีวิทยา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

- "ภูมิปัญญาทางภาษาจากเพลงกล่อมเด็ก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส" โดย พรพันธุ์ เขมคุณาศัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จากงานวิจัยเรื่องการศึกษาภูมิปัญญาชาวบ้าน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2539

ตำแหน่งที่ตั้ง: 
รายละเอียดตำแหน่งที่ตั้ง: 

หมู่บ้านตอหลัง หมู่ที่ 3 ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส