เพลงกล่อมเด็กภาษาตากใบ 'โอยเฮโอยฮ็อก' : Tak Bai Lullaby 'Aoy Hey Aoy Hok'

สรุป: 
'ชาแด๋ก' (กล่อมเด็ก) และ 'เวเปล๋' (ไกวเปล) เป็นกิจกรรมยามบ่ายในบ้านที่มีเด็กเล็ก หลังจากการทำนาทำสวน หากบ้านหลังใดมีลูกหลายคน ผู้หญิงในบ้านนั้นก็มักจะชาแด๋กได้หลายเพลง ตั้งแต่อดีตมาไม่เคยมีการจดบันทึก ทำให้เพลงชาแด๋กภาษาตากใบหาฟังได้ยากแล้วในปัจจุบัน
รายละเอียด: 

เพลงโอยเฮโอยฮ็อก เป็นเพลงที่ใช้ภาษาภาพพจน์ (figure of speech) แบบบรรยายจินตภาพ (imagery) นั่นคือเล่าถึง คน สัตว์ สิ่งของ และสถานที่ โดยผ่านประสบการณ์ธรรมชาติ เช่น ในเพลงนี้จะเริ่มด้วยคำสร้อย “โอยเฮโอยฮ็อก” เพลงนี้มักจะใช้ร้องต่อจากเพลง “เปลมาเวแข่งกัน” พูดบรรยายถึงบรรยากาศฝนตกใกล้ตกและสังคมการเกษตรที่มีวัวและควายเป็นตอนเปิด โดยใช้เนื้อเพลงท่อนเดียวกับเพลง “ฝนทะเล” เนื่องด้วยที่ว่าเพลงกล่อมเด็กเหล่านี้เป็นการส่งต่อวัฒนธรรมแบบปากต่อปาก (oral tradition) ไม่มีการจดบันทึก จึงอาจจะทำให้เนื้อเพลงมีการผสมปนเปกัน ขึ้นอยู่กับตัวผู้ร้องเองด้วยว่าได้ยินมาว่าอย่างไร เพลงนี้บรรยายถึงครูหมอหรือผู้ที่เป็นที่นับถือมากสมัยก่อน คือ คนที่เป็นมโนราห์ หรือมีครู ที่จะโพกหัว และมีกริชเหน็บไว้กับตัวพร้อมหิ้วตะเกียงไฟ โดยเขานั้นร่ำรวย มีทั้งช้างทั้งม้าที่เลี้ยงไว้ขี่ด้วย นอกจากนี้ยังพูดถึงการหาสัตว์น้ำมาประกอบอาหารของ “โต๊ะชาย” (พี่ชายหรือน้องชายของตา/ปู่) เช่น ปลากระเบน ที่จะนำมาทำเป็นอาหารมาให้ “น้าเณรหน่อแก้ว” ซึ่งในวัฒนธรรมของชาวบ้าน การบวชแม้จะเป็นการเคยบวชเณรก็เป็นบุญใหญ่และนับเป็นความสำเร็จเช่นกัน เพลงนี้มีคำสร้อยเดิมต่อท้ายเพลงว่า “โอยเฮโอยฮ็อก” ด้วยเช่นกัน ซึ่งในด้านของการร้อยเรียงคำเหล่านี้ สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาษาภาพพจน์เช่นนี้ คือ เสียงสัมผัส (rhyme) ที่เรียงต่อไปเรื่อย ๆ ประกอบเป็น ฉันทลักษณ์ ที่เพลงกล่อมเด็กในภาษาไทสำเนียงตากใบส่วนใหญ่ ดังที่ได้กล่าวไว้ในการศึกษาของ สุภาพร ฉิมหนู (2561) ไว้ว่า มีลักษณะเป็นร่ายยาว 4-5 พยางค์ (ในการบันทึกครั้งนี้มีบางวรรคมีจำนวน 4-7 พยางค์ด้วยได้เช่นกัน) และคล้ายเพลงชาน้อง (เรียกกันโดยภาษาไทยปักษ์ใต้) และคล้ายกาพย์ยานีนั่นเอง

 

งานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพลงกล่อมเด็กภาษาไทสำเนียงตากใบ:

- วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตเรื่อง “การศึกษาเพลงกล่อมเด็กภาคใต้สำเนียงเจ๊ะเห (ตากใบ-ตุมปัต)” โดย สุภาพร ฉิมหนู (2561) สาขาวิชาดนตรีวิทยา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

- "ภูมิปัญญาทางภาษาจากเพลงกล่อมเด็ก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส" โดย พรพันธุ์ เขมคุณาศัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จากงานวิจัยเรื่องการศึกษาภูมิปัญญาชาวบ้าน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2539

ตำแหน่งที่ตั้ง: 
รายละเอียดตำแหน่งที่ตั้ง: 

หมู่บ้านตอหลัง หมู่ที่ 3 ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส